Saint Seiya กับความสัมพันธ์ของ Silver Saint Cepheus

ไดดาลอส และ อัลบิโอเร่ ซิลเวอร์เซนต์เซฟิอุสจาก เซนต์เซย่า ทั้ง 2 เวอร์ชั่น

Saint Seiya (เซนต์เซย่า) ในเวอร์ชั่นมังงะและอนิเมะมีจุดแตกต่างกันมากมายหลายจุด ซึ่งส่งผลมาถึงเกมมือถือ Saint Seiya Galaxy Spirits ที่ผมเล่นอยู่เป็นประจำด้วย ล่าสุดผมได้ทำการปั้น Cepheus Albiore (เซฟิอุส อัลบิโอเร่) ซิลเวอร์เซนต์จากเวอร์ชั่นอนิเมะจนถึง 7 ดาวแล้ว 

ด้วยความที่เซฟิอุสในเกมเปรียบเสมือนเทพที่ถูกลืม ในมังงะกับอนิเมะก็มีบทน้อยแต่โดดเด่นเป็นที่จดจำ ทำให้ผมสนใจซิลเวอร์เซนต์คนนี้ค่อนข้างมาก เมื่อลองค้นหาข้อมูลก็ได้พบจุดเชื่อมโยงต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากการดัดแปลงตำนานเทพกรีกมาสู่เนื้อเรื่องเซนต์เซย่า จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้ครับ

ความเหมือนและแตกต่างระหว่างมังงะกับอนิเมะ

เซฟิอุส ไดดาลอส (Cepheus Daidalos) คือ ซิลเวอร์เซนต์ผู้เป็นอาจารย์ของ แอนโดรเมดา ชุน และ คาเมเลี่ยน จูน ในเวอร์ชั่นมังงะ ไดดาลอสมีลูกศิษย์เพียง 2 คน เท่านั้น ฝึกสอนกันที่เกาะแอนโดรเมด้า

ทางด้านอนิเมะจะเป็น เซฟิอุส อัลบิโอเร่ (Cepheus Albiore) แทน ความแตกต่างที่เห็นชัด ๆ เลยคือ ไดดาลอสดูแก่สมเป็นอาจารย์มาก ในขณะที่อัลบิโอเร่เป็นหนุ่มหล่อซะอย่างงั้น แถมยังมีลูกศิษย์เพิ่มมาอีก 2 คน คือ เรด้า และ สปีก้า จุดเด่นคือศิษย์สำนักนี้คือมีโซ่เป็นอาวุธทั้งสิ้น ส่วนจูนเป็นแส้ซึ่งก็เป็นอาวุธแนวเดียวกัน

แบบแปลนชุดคลอธ แน่นอนว่าในอนิเมะสวยกว่ามาก ต่างจากมังงะที่ไม่ได้ระบุว่าใช้โซ่เป็นอาวุธหรือไม่

สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 เวอร์ชั่นคือ ไดดาลอสและอัลบิโอเร่รู้สึกถึงพลังคอสโมอันยิ่งใหญ่ในตัวชุนและกำชับให้เขาอย่าอ่อนข้อเวลาต่อสู้เพราะจะกลายเป็นจุดอ่อน โดยในมังงะ ชุนห้าวถึงขนาดระเบิดพลังทำลายชุดคลอธของไดดาลอสได้สบาย ๆ เพื่อแสดงให้อาจารย์ได้รู้ถึงพลังที่แท้จริง



อีกเรื่องที่เหมือนกันคือไดดาลอสและอัลบิโอเร่รับรู้ถึงความผิดปกติของเคียวโกและแซงทัวรี่ซึ่งเป็นสาเหตุให้โดนสั่งเก็บในเวลาต่อมา

จุดจบของไดดาลอสและอัลบิโอเร่

ความตายของทั้งคู่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พิซเซส อโฟรดิตี้ เหมือน ๆ กันคือ ในมังงะ ไดดาลอสจะโดนอโฟรดิตี้ฆ่าตาย (โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไดดาลอสมีท่าไม้ตายอะไร เข้าใจแค่ว่าน่าจะเก่งแต่ก็ยังแพ้)

ทางด้านอนิเมะจะมีเนื้อเรื่องเสริมนิดหน่อยคือ เคียวโกทราบดีว่าคอสโมของซิลเวอร์เซนต์ผู้นี้ไม่ธรรมดา ฝีมือของเขาเก่งพอ ๆ กับโกลด์เซนต์ จึงต้องส่ง สกอร์เปี้ยน มิโร และ พิซเซส อโฟรดิตี้ ให้ไปจัดการอัลบิโอเร่แบบ 2 รุม 1

ระหว่างการต่อสู้ อโฟรดิตี้ เหมือนจะคุมเชิงโดยมี เรด้า, สปีก้า และ จูน เป็นตัวประกัน แล้วให้มิโรดวลเดี่ยวกับอัลบิโอเร่ทำให้เขาเสียสมาธิ สุดท้ายอโฟรดิตี้เล่นทีเผลอใช้เดม่อนโรสโจมตีอัลบิโอเร่ให้ติดพิษ มิโรจึงเอาชนะได้อย่างไม่ยากเย็น (มิโรในตอนนั้นก็ดูชั่วร้ายมาก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีบทยาวจนถึงภาคฮาเดส)

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ทำให้ชุนต้องมาสะสางล้างแค้นให้อาจารย์กับอโฟรดิตี้ที่ปราสาทราศึมีนในเวลาต่อมาเหมือนกันทั้ง 2 เวอร์ชั่น 

ความเทพในเวอร์ชั่นเกม

จากประเด็นที่ว่าอัลบิโอเร่เก่งพอ ๆ กับโกลด์เซนต์ ในเกม Saint Seiya Galaxy Spirits จึงอยู่ในขั้น 14 ซึ่งถือว่าเทพพอตัว แต่ก็บทน้อยพอ ๆ กัน เพราะเป็นตัวที่ไม่ค่อยมีคนเล่นซักเท่าไหร่

ในเกม Saint Seiya Awakening ก็มีไดดาลอสเช่นกัน ดีไซน์จะคล้ายกับมังงะแต่ดูหนุ่มกว่า จัดอยู่ในกลุ่มฮีโร่ Rank A ใช้โซ่เป็นอาวุธ เคยติดเมต้า PvP ด้วยนะ มีความสามารถในการลด P-ATK ศัตรูเอามาเพิ่มให้เพื่อนในทีมได้ ไม่ธรรมดา

เรด้าและสปีก้า

เรด้าและสปีก้าเป็นตัวละครที่เพิ่มเข้ามาในเวอร์ชั่นอนิเมะ โดยหลังจากการตายของอัลบิโอเร่ ทั้งคู่เดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อจัดการกับชุนเพื่อแสดงความภักดีต่อแซงทัวรี่ แน่นอนว่าแพ้ไปตามระเบียบ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงว่าแพ้แบบตายหรือแพ้แบบโดนน็อคเพราะไม่มีการพูดถึง 2 คนนี้อีกเลย

ในส่วนของการตั้งชื่อ คำว่า เรด้า (Reda) มาจากชื่อดาวที่สว่างที่สุดของกลุ่มดาว Aquila (Eagle) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชุดคลอธของเรด้าหรือซิลเวอร์เซนต์อีเกิ้ลมารีนเลย น่าจะเอาชื่อดาวมาตั้งเท่ ๆ เฉย ๆ สำหรับสปีก้าเดาว่าชื่อน่าจะมาจากคำว่า spike ที่แปลว่า หนาม เพราะชุดคลอธดูแหลม ๆ เหมือนหนาม (อันนี้เดานะ ไม่ต้องเชื่อก็ได้)

ชุดคลอธที่เรด้าใส่เป็นชุดมาจากกลุ่มดาวปลาใต้ (Pisces Austrinus) ที่มีเรื่องเล่าจากตำนานเทพกรีกว่า กลุ่มดาวปลาใต้หรือ Pisces Austrinus เป็นร่างแปลงร่างหนึ่งของ ไทฟอน (Typon) สัตว์อสูรที่ไกอา (Gaia) สร้างขึ้นมา ถูกส่งไปเพื่อทำร้าย วีนัส (Venus) และ คิวปิด (Cupid) ทั้งสองจึงแปลงร่างเป็นปลาแล้วหนีไปทางแม่น้ำยูเฟรตีส (Euphrates) ซึ่งกลายเป็นกลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) ในเวลาต่อมา

สำหรับชุดคลอธของสปีก้านั้น ดู ๆ ไปก็คล้ายกับชุดแอนโดรเมดาแต่ปรับให้ดูดุดันกว่า ชุดคลอธนี้มาจากกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) ตามตำนานเทพกรีกกล่าวว่า ราชินีแคสซิโอเปียคือแม่ของเจ้าหญิงแอนโดรเมดา มีพ่อเป็นราชาเซฟีอุสซึ่งก็คือชุดคลอธของไดดาลอสหรืออัลบิโอเร่นั่นเอง

จากตำนานสู่ชุดคลอธ

อ่านมาถึงตรงนี้ เรามีคำศัพท์หรือชื่อที่มาจากตำนานเทพกรีกที่น่าสนใจได้แก่

  • เซฟิอุส (Cepheus)
  • แคสซิโอเปีย (Cassiopeia)
  • แอนโดรเมดา (Andromeda)
  • กลุ่มดาวปลาใต้ (Pisces Austrinus)

ลองมาดูกันว่าตำนานได้กล่าวถึงบุคคลเหล่านี้ว่าอย่างไรบ้าง

ในตำนานเทพนิยายกรีกโบราณ แคสซิโอเปียเป็นตัวแทนของราชินีผู้งดงามของราชาเซเฟอุสแห่งเอธิโอเปีย (Ethiopia) ซึ่งหลงใหลและเย่อหยิ่งในความงดงามของตนเองเป็นอย่างมาก

ครั้งหนึ่งราชินีแคสซิโอเปียได้ทำการโอ้อวดความงามของตนเองและบุตรสาวแอนโดรเมดา ต่อนางพรายน้ำทั้งหลาย (Nereids) รวมไปถึง แอมฟิไทรที (Amphitite) ชายาของโพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าแห่งท้องทะเลอีกด้วย

การกระทำดังกล่าวสร้างความโกรธเคืองจนส่งผลให้โพไซดอนต้องส่งซีตัส (Cetus) อสูรวาฬไปทำลายอาณาจักรเอธิโอเปีย ราชาเซเฟอุสได้หารือกับเหล่าผู้พยากรณ์ของอาณาจักรเพื่อหาทางหยุดยั้งซีตัส และพบว่าโพไซดอนต้องการให้สังเวยชีวิตของเจ้าหญิงแอนโดรเมดาเพื่อเป็นการขอขมา

เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นที่เกิดขึ้น ราชาเซเฟอุสและราชินีแคสซิโอเปียตัดใจทำการเสียสละบุตรสาว ด้วยการล่ามองค์หญิงแอนโดรเมดาไว้กับก้อนหินเพื่อเป็นเครื่องสังเวยให้กับซีตัส ซึ่งในท้ายที่สุดองค์หญิงแอนโดรเมดารอดพ้นจากอันตราย โดยได้รับการช่วยเหลือในวินาทีสุดท้ายจากเพอร์ซีอุส (Perseus) วีรบุรุษชาวกรีกผู้ซึ่งผ่านไปมาพบเหตุการณ์เข้า

ภาพการช่วยเหลือองค์หญิงแอนโดรเมดาและเพอร์ซีอุส
La Délivrance d’Andromède (1679) by Pierre Mignard

อย่างไรก็ตาม ราชินีแคสซิโอเปียถูกเทพเจ้าโพไซดอนลงโทษ โดยการจับมัดผูกติดไว้กับเก้าอี้หรือบัลลังก์ของเธอบนสรวงสวรรค์ชั่วนิรันดร์ กลายเป็นกลุ่มดาวที่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งกลับหัวกลับหางวนเวียนไปมาอยู่รอบขั้วเหนือของท้องฟ้า (Celestial pole) ซึ่งนอกจากราชินีแคสซิโอเปียแล้ว ราชาเซเฟอุส องค์หญิงแอนโดรเมดา และเหล่าสมาชิกในราชวงศ์ล้วนถูกส่งขึ้นสู่สวรรค์ กลายเป็นกลุ่มดาวเคียงข้างกันบนท้องฟ้าอีกด้วย

สำหรับซีตัส อสูรวาฬที่โพไซดอนส่งมาทำลายอาณาจักรเอธิโอเปียนั้น มีลักษณะเป็นครึ่งมังกร-ครึ่งปลา (Dragon-fish) โดยที่ส่วนหัวจะเป็นรูปมังกร หางเป็นปลา อาศัยในน้ำ รูปร่างคล้ายปลาวาฬ ซึ่งจะคล้ายกับดีไซน์ชุดคลอธของเรด้า

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบรายชื่อจากกลุ่มดาวทั้ง 88 แล้ว ซีตัสก็มีกลุ่มดาวเป็นของตนเองนั่นคือกลุ่มดาวปลาวาฬ ซึ่งในภาคหลัก ทั้งมังงะและอนิเมะก็ปรากฏตัวในฐานะซิลเวอร์เซนต์ เวลล์ โมเซส นั่นเอง และไม่ได้เป็นกลุ่มดาวเดียวกันกับกลุ่มดาวปลาใต้แต่อย่างใด เพียงแค่มีจุดเชื่อมโยงถึงกันเท่านั้น ทำให้เราเห็นถึงความคิดสร้างสรรผลงานอนิเมะเซนต์เซย่าที่แม้จะแตกต่างกับมังงะ แต่ก็ไม่ได้มั่วนะ ทุกอย่างมีที่มา

สำหรับตัวละครอื่น ๆ อย่างเช่น Typhon, Cetus และ Cassiopeia Saint ในเวอร์ชั่นอื่น ๆ ผมจะนำมาพูดถึงในโอกาสต่อไปครับผม

ฝากติดตามช่องยูทูปด้วยครับ
ติดตามช่อง 👉 https://bit.ly/3mTtq2m
ชอบมาก เป็นสมาชิกได้นะฮะ 👉 http://bit.ly/3shKDoZ

แหล่งข้อมูล

https://saintseiya.fandom.com/wiki/Cepheus_Cloth
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Cepheus_Daidalos
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Cepheus_Albior
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Reda
https://sites.google.com/site/12starsweb/klum-daw/klum-daw-bn-thxngfa-pen-88-klum/klum-daw-pla-ti-pisces-austrinus
http://magicacademe.blogspot.com/p/typhon-100.html
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Spica
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Cassiopeia_Cloth
http://www.pharaonwebsite.com/search/?keywords=reda
https://ngthai.com/science/24960/cassiopeia/
http://magicacademe.blogspot.com/p/typhon-100.html
https://sites.google.com/site/12starsweb/klum-daw/klum-daw-bn-thxngfa-pen-88-klum/klum-daw-si-tas-klum-daw-wal-cetus
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Cassiopeia_Saint
https://saintseiya.fandom.com/wiki/Cetus_Chris

ความคิดเห็น